วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2562

Cooper Test ทดสอบฟิต ไม่ฟิต

วันนี้เจอตาราง Cooper Test เลยอยากเล่าเรื่องวิ่งยาวๆหน่อยให้ฟัง
ใครเบื่อก็ข้ามได้นะครับ

มีเรื่องเล่า..เมื่อครั้งก่อนที่จะสนใจเรื่องวิ่ง
การวิ่งคือการวอร์มก่อนไปเล่นบาสกับน้องๆในหมู่บ้าน
วิ่งได้300เมตร=1รอบสนาม จำได้ว่าวิ่งเร็วให้จบๆไป
หลายครั้งไม่มีใครมาเล่นบาสก็เบื่อๆ เลยลองวิ่งเป็น3รอบดู
เหนื่อยมาก มีอาการลมจะจับ ดื่มน้ำยังสำลักเพราะหายใจไม่ทัน
ไปนั่งคุยกับลุงแถวบ้านว่าไม่เคยคิดว่าวิ่งได้แค่นี้ ทำไมมันเหนื่อยจัง
ตอนนั้นแทบไม่มีคนวิ่ง ก็ดูเขินๆนะออกไปวิ่ง วิ่งไปหอบไปทุกครั้ง
เป็นอะไรที่น่าเบื่อและทรมานก็วิ่งได้แค่3รอบ มาตลอด
ทำให้วันไหนอยากวิ่งก็วิ่ง น่าจะสัปดาห์ละไม่เกิน 2 ครั้ง
ทุกวันที่ออกมาวิ่งจะวิ่งเร็วเพื่อให้จบๆไป คิดว่านี้คือการออกกำลังกายแล้ว
วันไหนเจอน้องๆเล่นบาสก็วิ่งรอบเดียวแล้วไปเล่นบาส
เป็นแนวนี้วนไปร่วมปี สามารถวิ่งได้5รอบ(1.5km)เป็นความรู้สึกว่าเท่ห์มากวิ่งได้5รอบ

ยังคงวิ่งด้วยความเร็วเช่นเดิม แต่สิ่งที่ตามมาคือวันไหนวิ่งติดๆกันจะเจ็บเข่าเจ็บข้อเท้ามาก
ทำให้ไม่อยากวิ่งแล้ว เล่นบาสไม่เคยเป็น คิดจะเลิกวิ่งเลยเพราะเจ็บ แต่โชคดีได้ปรึกษาพี่ชายแฟน
เป็นคุณหมอเฉพาะทางด้านกระดูกให้ตรวจดูผลไม่ได้เป็นอะไรมาก ข้อเข่าปกติ คุณหมอแนะนำให้พัก
วิ่งไปก่อน พอทำตามคำแนะนำก็หายจริงๆ พอหายก็กลับมาลองวิ่งดูใหม่ อาการเจ็บหายไป
ทำให้ไม่กล้าวิ่งเร็ว (ที่บอกว่าวิ่งเร็วเป็นความรู้สึก จริงๆไม่ได้เร็วเลย ตอนนั้นไม่มีนาฬิกา ไม่มีอุปกรณ์อะไรเลย
มารู้ตอนหลังว่าจริงๆไม่ได้วิ่งเร็ว เพซ 9-10)

ผมยังคงวิ่งได้5(1.5km)รอบเช่นเดิมเพราะคิดว่าเยอะแล้วแต่ที่เปลี่ยนไปคือไม่กล้าวิ่งเร็วเพราะกลัวเจ็บ
หลังจากนั้นมาอาการติดวิ่งก็เริ่มขึ้น ออกมาวิ่งบ่อยขึ้นและเป็นประจำขึ้น (สัปดาห์ละ 3วัน)
บางวันจะเดินก่อนวิ่งและวิ่งเสร็จก็จะเดินเล่นต่อ รวมๆก็ 30-40นาทีได้
ทำแบบนี้มานานนับปี ผมวิ่ง5รอบแบบว่าสบายมาก ทำให้คิดถึงวันแรกที่วิ่ง1-2รอบแล้วเหนื่อยแทบตาย
ทำให้รู้สึกว่าร่างกายนี้น่าจะแข็งแรงขึ้น ออกมาวิ่งทุกครั้งรู้สึกดีทุกครั้ง (คงติดวิ่ง)

วันหนึ่งผมได้เจอเพื่อนที่ทำงานเล่าเรื่องไปงานวิ่งบางกอกมาราธอน เป็นงานใหญ่มาก
เค้าเปิดหนังสือพิมพ์บางกอกโพสน์ให้ดูว่ามีชื่อเค้า (ตัวหนังสือเล็กมาก) ด้วยสีหน้าและดวงตาเป็นประกาย
ดูตื่นเต้นเห็นได้ชัด ผมไม่รู้เรื่องวิ่งเลยยังไม่ได้สนใจอะไร
ทุกวันเพื่อนก็จะคุยเรื่องวิ่งให้ฟัง บอกว่าอยากไปบอสตันไปวิ่งไกลมากๆ(42โล)
ผมได้ยินตกใจมาก อะไรนะวิ่ง42โล มันจะไกลอะไรขนาดนั้น
ผมคำนวณในใจนั้นมัน 140 รอบสนามที่ผมซ้อมวิ่งเลยนะนั้น
ไม่จริงนะมันจะทำได้ไง ผมถามละเอียดเลยด้วยความไม่เชื่อ ย้ำว่าวิ่งไม่หยุดเลยนะ แล้วไม่วิ่งกันเป็นวันหรือ
เพื่อนบอกว่าพวกผู้นำวิ่งกัน 2ชั่วโมงกว่าๆ คนส่วนใหญ่ที่ไปบอสตันวิ่งกัน 3ชั่วโมงกว่าๆ
ยิ่งทำให้ผมไม่เชื่อ คิดว่าเพื่อนคงโม้ๆไป แล้วมันก็ดูบ้าบอมากวิ่งอะไร 42โล

หลังจากนั้นเพื่อนก็เอานาฬิกาวิ่งมาให้ดูว่าทำอะไรได้บ้าง บอกสรรพคุณจนผมอยากได้
พอดีช่วงนั้นบริษัทพี่สาวแฟนมีลดราคา IRONMAN TIMEX พอดี ผมเลยฝากซื้อไปก็ซื้อตามคำแนะนำเพื่อน
ไม่รู้เลยว่ามันจะเอามาทำอะไรคือเอามาเท่ห์ๆไว้ก่อน ใช้ก็ไม่เป็น สมัยนั้นเป็นสายคาดหน้าอกเอาไว้วัด HR
(ยังไม่มีวัดจากข้อมือ เชยเนอะ) นั้นเป็นก้าวแรกที่ผมเปิดประตูต้อนรับการวิ่งแบบใช้อุปกรณ์
วันแรกที่ใส่นาฬิกาและสายคาดหน้าอกลำบากหน่อยเพราะกว่าจะใช้ได้ก็ 30นาที แต่เหมือนเป็นอุปกรณ์
เรียกพลัง ใส่แล้ววิ่งเร็ว วิ่งดี คงยังเห่อของใหม่ (เหมือนเด็กได้ของเล่น) ผมเอามาคุยกับเพื่อนสนุกขึ้น
ไม่เป็นอันทำงาน คุยกันได้ถึงกินข้าวเที่ยง เพื่อนถามว่าวิ่งวันละกี่กิโล เป็นคำถามทุกวันเลย
ผมก็ไม่เคยดูจำได้แค่ 5 รอบ ผมก็ตอบๆไปว่าวันละ 40-50นาที เดินบ้าง วิ่งบ้าง เพื่อนก็บอกว่าคงจะ 8-10km
ผมหัวเราะและรู้ว่าไป 5รอบสนามที่ผมซ้อมนะมันน่าจะน้อยไป สำหรับพวกที่เป็นนักวิ่ง

หลังจากนั้นผมลองเพิ่มจาก5รอบเป็น10รอบ(3km)ในระยะเวลาอันสั้น ผมทำได้ไม่ยากเลย
จึงเพิ่มเป็น15รอบ(4.5km) ผมยังคงทำได้แต่ผมงดการเดินทั้งก่อนวิ่งและหลังวิ่งออกทั้งหมด
เพราะต้องใช้เวลาวิ่งเยอะขึ้นมาก แต่รวมๆผมก็ยังใช้เวลาในการวิ่ง 40-50นาทีเช่นเดิม
15รอบเป็นการวิ่งที่ผมคิดว่าคงทำได้เท่านี้ เพราะเรื่องเวลาที่จำกัด และ อาการบาดเจ็บเริ่มกลับมาอีกครั้ง
เพราะผมเพิ่มปริมาณเป็น 15รอบเร็วเกินไป แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือ ผมวิ่งประจำ สม่ำเสมอ วิ่งสัปดาห์ละ 4 วัน
ช่วงต้นต้องอดทนมาก มีสิ่งยั่วยุให้หยุดวิ่งเยอะ แต่ผมก็ไม่ได้จริงจังกับการวิ่งขนาดไปงานวิ่ง ยังคงวิ่งวันละไม่เกิน 15รอบ
วันไหนมีอาการเจ็บก็งดวิ่งไป หรือ วิ่งลดลงเหลือ 10รอบบ้าง บางวันเวลาน้อยก็ต้องรีบๆวิ่งให้ครบ10รอบ
รวมๆไม่ต่ำกว่า10รอบ(3km) ผมสังเกตว่าร่างกายแข็งแรงดี ไม่ป่วยง่าย ผลการตรวจร่างกายประจำปีก็ดีขึ้นทุกอย่าง
ก็คิดว่านี้น่าจะเป็นการออกกำลังกายที่แท้จริง จึงทำต่อมาเรื่อยๆเป็นปี ไม่เพิ่มระยะ15รอบพอแล้ว

จนมาอยู่วันหนึ่ง เกิดอยากรู้ว่าแล้วจะรู้ได้ไงว่าร่างกายเราฟิตแค่ไหน ช่วงนั้นคงไฟแรง มั่นใจ
หาใน Google เจอวิธีทดสอบเรียกว่า Cooper Test ด้วยการทดสอบวิ่ง 12นาทีว่าเราได้ระยะทางเท่าไหร่?
เป็นวิธีสากลที่ใช้ทดสอบนักกีฬา ไม่ยากแค่วิ่ง 12นาที ก็ไม่น่ายากจะได้ระยะทางเยอะๆก็วิ่งเร็วๆสิ
ต้องลองครับ เริ่มลองวันแรกวิ่งเต็มที่ 12นาที วิ่งเร็วสุดเท่าที่ทำได้ หอบเลย อาการเหนื่อยจะตายกลับมาหลอกหลอน


ไม่ง่ายเลยต้องวิ่งเร็วๆ 12นาที (ตอนนั้นผมไม่รู้เรื่อง Zone HR ถึงแม้จะมีนาฬิกา) รู้แค่ว่า HR พุ่งไป 191 ได้
ระยะที่ทำได้ 1.5km (ผมรู้สึกว่าก็ไม่เลวนะ เพราะมันคือ 3รอบสนาม ภายใน 12นาที) ความเร็วเพซ 8 นั่นเอง
แต่ตอนนั้นผมไม่เคยรู้เรื่องเพซเลยไม่ได้สนใจมาก พอเอามาเทียบในตารางผลน่าจะดีนะ
แต่ไม่เป็นอย่างที่คิดผลที่ออกมาอยู่ในระดับ Bad ครับคือถ้าสอบก็คงตกครับ
ผมคิดว่าไม่จริงต้องมีอะไรผิดพลาด

ผมมาลองวิ่งเร็ว 12นาทีอีก หลายครั้งในหลายๆสัปดาห์แต่ระยะทางที่ได้ก็ยังติดอยู่ที่กลุ่ม Bad อยู่ดี
จุดเปลี่ยนตรงนี้ทำให้ผมปรับการซ้อมยกใหญ่ หาข้อมูลการวิ่งอย่างกับทำวิจัย เพราะคิดว่า
ที่ทำมามันต้องไม่ถูกแน่นอน
ผมยังคงทดสอบวิ่ง 12นาที เพื่อเอาชนะตารางที่ผมได้มาจาก Google
ในรุ่นอายุผม 40-49 ต้องให้ได้ระยะ 2.1-2.5km ถึงจะจัดว่า Good ไม่ใช่ว่าดีสุดนะ
ผมขอแค่ว่าขึ้นชื่อว่าGoodก็โอเคแล้ว พอมามุ่งเรื่องความเร็วเพื่อให้ได้ระยะทางเยอะๆก็สร้างแรงเค้นขึ้น
มาโดยไม่รู้ตัว พยายามทำจนเกิดการบาดเจ็บอีกครั้ง ครั้งนี้ทำให้ผมอยากเลิกวิ่งเลย เหมือนมันไกลเกิน
เพราะพยายามเท่าไหร่ ก็ไม่ได้ใกล้ Good เลย เป็นการตัดสินใจอยู่สักพักเลยว่าจะเลิกวิ่งไปเลย

แต่ระหว่างที่หยุดวิ่งไปผมยังคงอ่านและหาข้อมูลเรื่องวิ่ง
จากนักวิทยาศาสตร์การกีฬา และลองนำมาทำตาม หลายๆอย่างมันอธิบายเรื่องที่ผมไม่เข้าใจ
หลายๆเรื่องเป็นศาสตร์ที่ทำให้การพัฒนาการวิ่งไม่สิ้นสุด ได้รู้ความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์
ทุกครั้งที่ได้รู้เรื่องใหม่ๆ ผมเอามาลองทำปรับให้เหมาะสมกับตัวเรา จนผมลืมเรื่องวิ่งทดสอบ 12นาทีไปเลย
ผมทิ้งมันไปแล้ว ผมกลับมาฝึกแบบมีแบบแผน เข้าใจร่างกายและการทำงานมากขึ้น
จนรู้ว่าจะทำยังไงให้วิ่งได้นาน วิ่งแล้วไม่เหนื่อย วิ่งให้เร็ว วิ่งได้ไกล ผมรู้วิธีและทำได้จริงทุกอย่าง
จนเห็นการพัฒนาได้ชัดเจน ผมมั่นใจว่าสามารถวิ่งไปเรื่อยๆได้ไม่หยุดแม้จะ42โล ทั้งที่ผมไม่เคยซ้อมถึง

แต่สิ่งที่ผมค้นหาต่อคือการวิ่งอย่างไรให้สนุกไม่บาดเจ็บและทำต่อไปได้เรื่อยๆโดยเป็นกิจวัตร
และสามารถทำได้ถึงวัยชราแบบเป็นเนื้อเดียวกับตัวเอง เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี อันนั้นเป็นเป้าหมายที่แท้จริง
ส่วนหนึ่งของการค้นหาผมพบว่าการรวมกลุ่มเพื่อนๆพี่ๆน้องๆคนรอบข้างที่รักสุขภาพ ได้มาแลกเปลี่ยน
แบ่งปันสิ่งเล็กๆ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ได้มาวิ่งร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน
จะเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจให้วิ่งได้ไปเรื่อยๆจนชรา
เพราะเราจะเห็นเพื่อนๆพี่ๆน้องๆคนรอบข้างที่เรารัก มีสุขภาพที่ดีเหมือนที่เรามี
ใครวิ่งได้แล้วอย่าลืมชวนคนรักข้างๆมาวิ่งเพื่อสุขภาพกันนะครับ
ผมยินดีแบ่งปันทุกเรื่องเกี่ยวกับการวิ่งให้ทุกคน เรื่องไหนไม่ทราบผมจะไปค้นหามาให้ครับ

ขอบคุณที่อ่านมายาวเลย ที่เขียนเรื่องนี้ก็วันนี้มาเจอ ตาราง Cooper Test เลยเอามาเล่าให้ฟังที่มา
(ผมทดสอบครั้งสุดท้าย 12นาที นานมาแล้ว ผมทำได้ 2.34km จำได้เพราะเลขสวย
แต่ถ้าเอาbest record ผมเคยทำได้ในระดับ 2.57km - Very Good นะขอคุยหน่อย)
แต่ผมไม่ได้ตั้งใจจับเวลา 12นาทีเหมือนที่เคยทำ เพราะผมเลิกใช้ตารางนั้นมากดดันตัวเองนานแล้ว
App Endo เก็บข้อมูลสถิติไว้ให้เอง ไม่รู้เหมือนกันว่าทำได้เมื่อไหร่

สรุป
ปัจจัยทำให้วิ่งสนุกน้อยลง (ในมุมของผมนะ บางคนอาจจะสนุกก็ได้)
1. อาการบาดเจ็บ
2. การเพิ่มความเร็วจนเกิน HR Zone 4
3. การจำกัดระยะเวลาในการวิ่ง
4. การเพิ่มระยะทางเกิน 10%ต่อสัปดาห์
5. การวิ่งที่ขาดการพักผ่อน Over Training
6. การตั้งเป้าหมายที่สูงเกินไป พิชิตความท้าทายกิจกรรมมากไป
7. การพยายามเร่งลดน้ำหนักจากการวิ่ง
8. ไม่ดื่มน้ำ / ลืมดื่มน้ำ
9. ไม่มีเพื่อนวิ่ง
10. ทำตามตารางวิ่งแบบผิดพลาดไม่ได้
11. แข่งขันและเปรียบเทียบผลงานกับเพื่อน
12. วิ่งรูปแบบเดิมๆทุกวัน

@likerunner




การจัดการพลังงานในการวิ่ง

การจัดการพลังงานในการวิ่ง  วิ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงาน แคลอรี่ปริมาณมากน้อย ก็ขึ้นกับระยะทางที่วิ่ง และ ความเร็วที่วิ่ง และยังมีปัจจัยเ...